4 โรคอันตรายจากปลาร้า
บทความสุขภาพ
เตือน! 4 โรคอันตรายจากปลาร้า สายแซ่บต้องรู้
ปลาร้า เครื่องปรุงสำคัญสำหรับอาหารอีสาน ที่มีกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางคนชอบ แต่บางคนแค่ได้กลิ่นก็วิงเวียน นิยมนำมาประกอบอาหารหลากหลายเมนู เช่น ส้มตำปลาร้า ตำปูปลาร้า หมูปลาร้า ยำมาม่าปลาร้า แม้ว่าปลาร้าจะช่วยปรุงรสอาหารให้อร่อยนัว แต่ใครจะรู้ว่าวัตถุดิบแสนอร่อยนี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพบางอย่างได้เช่นกัน
ปลาร้าเป็นการถนอมอาหาร ที่นำเอาปลาสดมาหมักกับเกลือและใส่ข้าวคั่ว หมักทิ้งไว้ 4-5 เดือนจนเข้าเนื้อ แล้วจึงนำมาทำอาหารได้ ซึ่งสิ่งสำคัญของการทำอาหารหมักดองคือความสะอาดในทุกขั้นตอนการทำและการเก็บรักษา ซึ่งหากกระบวนการทำไม่สะอาดอาจนำไปสู่โรคอันตรายจากปลาร้าได้
โรคอันตรายและความเสี่ยงที่มาจากกินปลาร้า
อย่างที่เราได้กล่าวไปในตอนต้นว่าสิ่งสำคัญในกระบวนการหมักปลาร้า คือความสะอาด อีกทั้งการทานปลาร้าบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้
- โรคไต
แม้ว่าปลาร้าจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีเทียบเท่ากับอาหารประเภทอื่น ๆ แต่ในปลาร้ายังมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก นั่นจึงส่งผลกระทบต่อไตโดยตรง เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ใช้กรองของเสียออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายรับโซเดียมในปริมาณเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ เท่ากับว่าไตจะต้องทำงานหนักมากขึ้น หากยังไม่ปรับพฤติกรรมการกิน ก็จะนำไปสู่ภาวะไตเสื่อมก่อนวัยอันควร - โรคความดันโลหิตสูง
อีกหนึ่งโรคที่มาควบคู่กันกับโรคไต จัดว่าเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถนำไปสู่โรคร้ายแรงหลายชนิดได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง หากใครที่เป็นโรคดังกล่าวนี้อยู่แล้วหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็น ควรหลีกเลี่ยงการกินปลาร้าในปริมาณมาก ๆ - โรคพยาธิ
เนื่องจากปลาร้าทำมาจากปลาดิบแล้วนำมาหมักกับเกลือ ซึ่งปลาที่ใช้ทำส่วนใหญ่จะเป็นปลาน้ำจืด หากพูดกันตามตรง แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลาน้ำจืดมักมีพยาธิอาศัยอยู่ในตัวปลา ดังนั้นหากใครคิดจะกินปลาร้า จึงควรต้องนำมาผ่านความร้อน ปรุงสุกเสียก่อน เพราะหากกินดิบก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ หากรุนแรงสามารถไปสู่การเป็นมะเร็งตับได้อีกด้วย - โรคมะเร็ง
ในปลาร้ามีสารไนโตรซามีน (Nitrosamines) ซึ่งจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง หากกินอาหารที่มีสารดังกล่าวนี้มาก ๆ ก็จะเกิดการสะสมและอาจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งทางเดินอาหาร
กินปลาร้าอย่างไรให้ปลอดภัย
ความสะอาดถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่กินปลาร้าปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ ที่มาจากปลาร้า ซึ่งเราสามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้
- เลือกและสอบถามร้านค้าทุกครั้งว่าปลาร้าที่นำมาขายนั้นผ่านการปรุงสุกแล้วหรือยัง
- ก่อนจะนำปลาร้ามาปรุงอาหาร ควรผ่านขั้นตอนการผ่านความร้อน 90 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที เสมอ
- หลีกเลี่ยงการกินปลาร้าเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง
- เลือกซื้อปลาร้าสำเร็จรูปที่มีเครื่องหมาย อย. และส่วนประกอบที่ชัดเจน
ปลาร้าเป็นอาหารที่ถูกใจใครหลายคน สามารถบริโภคได้ในปริมาณที่เหมาะสม และควรเลือกซื้อหรือปรุงสุกก่อนนำมาประกอบอาหารทุกครั้ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 062-201-5601
@LINE : https://lin.ee/hLaoFhR
ติดตามข้อมูลข่าวสารสาระสุขภาพได้ที่
Facebook : https://bit.ly/3HWj4co
Youtube : https://bit.ly/3AaTVaO